การประยุกต์ใช้เถ้าแกลบ

pic2

การนำเถ้าแกลบประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม

1.อุตสาหกรรมโลหะ (Steel Industry) การผลิตแผ่นเหล็กกล้าคุณภาพสูงด้วยกระบวน การหล่อโลหะแบบต่อเนื่อง (continuous casting) โรงงานบางแห่งจะนำเถ้าแกลบมา โรยลงบนผิวหน้kแอ่งรับน้ำโลหะ (tundish) เพื่อป้องกันการเย็นตัวอย่างรวดเร็วของเหล็กและเพื่อให้เหล็กแข็งตัวอย่างสม่ำเสมอ เพราะเถ้าแกลบมีสมบัติเป็นฉนวนความร้อนที่ดี และมีจุดหลอมเหลวสูง

2.อุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต (Cement and Concrete) การใช้เถ้าแกลบในอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์หลัก 2 อย่างคือ

      ·  ใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland) เพื่อลดต้นทุนในการผลิตอิฐก่อสร้างราคาถูก

      ·  ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตคอนกรีตความแข็งแรงสูง (high strength concrete)

3.อุตสาหกรรมไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fiber Cement) ในกระเบื้องมุงหลังคาและวัสดุไม้เทียม

4.การป้องกันแมลง (Control of Insect Pests in Stored Food Stuffs) มีข้อมูลระบุว่าเกษตรกรในบางประเทศแถบเอเชีย เช่น ไทย อินโดนีเซียรู้จักนำเถ้าแกลบมาใช้ป้องกันผลิตผลทางการเกษตรจากแมลงศัตรูพืชโดยเกษตรกรจะคลุกเถ้าแกลบกับเมล็ดถั่วเหลืองเพื่อป้องกันด้วงแกรมห์บีน(Grahambeanbeetle) โดยใช้ เถ้าแกลบประมาณ 0.5% ต่อน้ำหนักถั่วซึ่งได้ผลดี

5.วัสดุก่อสร้างน้ำหนักเบา (Lightweight Construction Materials) ด้วยเหตุที่เถ้าแกลบ มีสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนดังนั้น ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศ จึงนำเถ้าแกลบมาใช้ผลิตฝ้ากันความร้อนน้ำหนักเบา

6.ซิลิกอนชิป (Silicon Chips) เนื่องจากแผ่นเวเฟอร์ (wafer) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ สารกึ่งตัวนำ (semi-conductor) ต้องใช้สารซิลิกอนบริสุทธิ์ จึงมีความพยายามที่จะพัฒนาเถ้าแกลบ ซึ่งมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นซิลิกา ให้เป็นสารซิลิกาบริสุทธิ์ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมนี้ 

7.อุตสาหกรรม การผลิตอิฐทนไฟ (Refractory Bricks) การที่เถ้าแกลบมีสมบัติ เป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีและมีจุดหลอมเหลวสูงดังนั้นจึงมีการนำเถ้าแกลบ มาใช้ผลิตอิฐทนไฟหรืออิฐทนความร้อนสูง

8.ยางวัลคาไนซ์ (Vulcanising Rubber) มีรายงานวิจัยหลายฉบับระบุถึงการใช้เถ้าแกลบในยางวัลคาไนซ์ซึ่งปรากฏผลการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการว่าการใช้เถ้าแกลบเป็นสารช่วยยางวัลคาไนซ์(vulcanising agent)ของยางเอทิลีนโพรพิลีนไดอีนเทอร์โพลิเมอร์(ethylene propylene diene terpolymer) หรือยางอีพีดีเอ็ม(EPDM)มีข้อดีมากกว่าการใช้ซิลิกาโดยสามารถใช้เป็นสารเสริม(filler)ในยางอีพีดีเอ็มได้ด้วย

9.สารดูดซับ สารประกอบเชิงซ้อนทอง-ไทโอยูเรีย ขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการสกัดทองคำออกจากก้อนแร่คือการใช้ถ่านกัมมันต์(activated carbon)ดูดซับสารประกอบเชิงซ้อนทองที่อยู่ในรูปทอง-ไทโอยูเรียแต่การทดลองใช้เถ้าแกลบเป็นตัวดูดซับแทนถ่านกัมมันต์ผลทื่ได้คือเถ้าแกลบที่ได้จากการเผาที่อุณหภูมิประมาณ 400-500 องศาเซลเซียสสามารถดูดซับสารประกอบทองได้ดีกว่าถ่านกัมมันต์

10.สารปรับปรุงดิน(Soil Ameliorant)ปัจจุบันมีการใช้เถ้าแกลบในการปรับปรุงดินโดยมีข้อมูลระบุว่าเถ้าแกลบสามารถนำมาใช้ปรับปรุงดินได้เนื่องจากมีความพรุนจึงช่วยการกระจายน้ำในดินได้ นอกจากนี้ยังพบว่าเถ้าแกลบสามารถปรับสภาพดินและน้ำให้มีความเป็นกรดน้อยลง

นอกจากนี้ยังมีความพยายามทดลองประยุกต์ใช้เถ้าแกลบอีกหลายอย่างนอกจากที่กล่าวไปแล้วซึ่งยังอยู่ในขั้นทดลองเช่น

      ·  ใช้เป็นส่วนผสมในผงดับไฟ (fire extinguishing powder)

      ·  ใช้เป็นผงขัดผสมในยาสีฟัน

      · ใช้เป็นส่วนผสมในวัสดุทนไฟและฉนวนกันไฟ

      · ใช้เป็นสารกรองเบียร์ (beer)

      · ใช้เป็นสารเติมในการผลิตสี

      · ใช้ในการผลิตฟิล์มโซเดียมซิลิเกต (sodium silicate)